ขนาดตัวอักษร
ความตัดกันของสี

เทศบาลเมือง ทับกวาง

 

อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

เทศบาลเมือง ทับกวาง

อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ผาเสด็จ

สมัยก่อนเส้นทางจากสระบุรีไปอำเภอแก่งคอย  ต้องใช้เวลานานมากเพราะถนนหนทาง เช่น ถนนมิตรภาพยังไม่มี มีเพียงเส้นทางโบราณเป็นถนนลูกรัง  ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อแทบตลอดทางแถมยังคดเคี้ยวไปมาจากระยะทางจริง 12 กิโลเมตร  กลายเป็น 16 กิโลเมตร เส้นทางคมนาคมอีกทางหนึ่ง คือ ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ  สายแก่งคอย-มวกเหล็ก  ซึ่งตัดผ่านเข้าดงพญาเย็นไปทะลุทางภาคอีสานซึ่งมีเทือกเขาอยู่หลายแห่งขวางเส้นทางที่จะต้องดำเนินงาน  และภูเขาแห่งนี้มีเงื้อมชะโงกหินยื่นออกมาเป็นก้อนโตมหึมา  ความจริงจะตัด หรือระเบิดอ้อมไปด้านข้างเคียงก็พอจะทำได้  แต่เส้นทางจะคดเคี้ยวเลี้ยวลดดูไม่สวยงาม  จึงต้องทำการระเบิดภูเขาแห่งนั้น  วิศวกรชาวฝรั่งเศสพยายามจะระเบิดทำลายเพื่อจะทำทางรถไฟผ่านอยู่หลายครั้งหลายคราแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ  เป็นความหนักใจให้แก่บรรดานายช่างเป็นอย่างยิ่ง  เกือบจะพากันหมดอาลัยล้มเลิกความตั้งใจเสียแล้ว  จึงปรึกษากันว่าควรทำอย่างไรดี  ขณะนั้นมีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำในทางไสยศาสตร์ว่าสถานที่แห่งนี้คงมีผีเจ้าป่าหรือเจ้าที่เจ้าทาง  ควรทำบัตรพลีเซ่นสรวงบนบานศาลกล่าวให้องค์เทพารักษ์อนุญาตตามประเพณีของไทยแต่โบราณ  แต่ไม่มีใครเห็นด้วยเพราะนางช่างเป็นคนหัวใหม่  ปรากฏว่าการระเบิดภูเขาก็ไม่เป็นผลสำเร็จอยู่ดี  ชาวบ้านแห่งนั้นบอกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  เคยแสดงมหิทธิฤทธิ์ปรากฏแก่ชาวบ้านและพรานให้เห็นมาแล้วหลายครั้ง  เช่น  ถ้ามีคนตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้น  หรือปัสสาวะบริเวณโคนต้นไม่ใหญ่ก็มีอันเป็นไป  คือ  ล้มป่วยเจ็บเนื้อเจ็บตัว  ปวดหัว  เป็นไข้ หรือเป็นลมชักน้ำลายฟูมปาก ตาเหลือก  ต้องหาคนไปทำกระทงบัตรพลีเซ่นสรวงขอขมา ถ้าใครไม่เชื่อล้มเจ็บถึงตายก็มี

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5)  พระองค์จึงโปรดให้นำตราแผ่นดินไปประทับตรงโคนต้นไม้ใหญ่บริเวณนั้นเป็นการเอาเคล็ด  เล่ากันว่าพอต้นไม้ใหญ่แห่งนั้นถูกตราแผ่นดินพระราชทานตีประทับลงที่โคนแล้ว ก็ให้มีอันกิ่งใบแห้งเหี่ยวยืนต้นตายไป และมีพระราชกระแสรับสั่งให้นายช่างระเบิดหินต่อไป  แต่ก็มีการเล่ากันว่าชาวบ้านคงกลัวไม่กล้าระเบิดต่อ  เนื่องจากมีนายช่างและคนงานบางคนเป็นไข้ป่าเจ็บหนักจนถึงเสียชีวิต  พระพุทธเจ้าหลวง  (รัชกาลที่ 5)  จึงโปรดให้สร้างศาลเพียงตาขึ้นที่ใกล้เงื้อมผา  การระเบิดทำทางรถไฟจึงดำเนินต่อไปโดยไร้อุปสรรค  ต่อมาพระองค์จึงเสด็จประพาสต้นมาตามลำน้ำป่าสักและเสด็จขึ้นบก  จากนั้นเสด็จต่อมาถึงผาแห่งนี้ และได้โปรดให้มีการจารึก พระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.”  “ส.ผ.”  “115”  และคำว่า  “ผาเสด็จพัก”  ติดไว้บนชะง่อนหินแห่งนั้น  เมื่อประชาชนทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5)  ได้เสด็จมาถึงผาแห่งนี้ก็พากันชื่นชม และผู้คนต่างพากันเรียกเงื้อมผาแห่งนี้ในเวลาต่อมาว่า  “ผาเสด็จ”  ซึ่งประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะพนักงานรถไฟได้ให้ความเคารพบูชาเป็นอย่างสูง ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

(คณะกรรมการชำระประวัติผาเสด็จพัก  จังหวัดสระบุรี, 2552)

Map : https://maps.app.goo.gl/v5b8x5CqQw7mHdFo6

แชร์ข่าวนี้

Facebook
Twitter
Email
ข่าวล่าสุด
เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้ โดยคลิกที่ปุ่มตั้งค่า และคุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายคุกกี้